วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ชนะเลิศการประกวดหญ้าแฝก

หญ้าแฝกจัดเป็นหญ้าเขตร้อนที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ กระจัดกระจายทั่วไปในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งในประเทศไทยจะพบหญ้าแฝกขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่ทั่วไปจากที่ลุ่มจน ถึงที่ดอน สามารถขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vetiveria zizanioides เป็นพืชตระกูลหญ้าขึ้นเป็นกอหนาแน่น เจริญเติบโตโดยการแตกกออย่างรวดเร็ว เส้นผ่าศูนย์กลางกอประมาณ 30 เซนติเมตร ความสูงจากยอดประมาณ 0.5 ถึง 1.5 เมตร ลักษณะใบแคบยาวประมาณ 75 เซนติเมตร ความสูงจากยอดประมาณ 75 เซนติเมตร ความกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร ค่อนข้างแข็ง

หากนำมาปลูกติดต่อกันเป็นแนวยาวขวางแนวลาดเทของพื้นที่ กอซึ่งอยู่เหนือดินจะแตกกอติดต่อกันเหมือนรั้วต้นไม้ สามารถกรองเศษพืชและตะกอนดิน ซึ่งถูกน้ำชะล้างพัดพามาตกทับถมดินติดอยู่กับกอหญ้าเกิดเป็นคันดินตาม ธรรมชาติได้ หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึกเจริญเติบโตในแนวดิ่งมากกว่าออกทางด้านข้าง และมีจำนวนรากมากจึงเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี รากจะประสานติดต่อกันแน่นหนาเสมือนม่านหรือกำแพงใต้ดิน สามารถกักเก็บน้ำและความชื้นได้ ระบบรากแผ่ขยายกว้างเพียง 50 เซนติเมตร โดยรอบกอเท่านั้น ไม่เป็นอุปสรรคต่อพืชที่ปลูกข้างเคียง จัดเป็นมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยให้ดินมีความชื้นและ รักษาหน้าดิน เพื่อใช้สำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ

การใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำเป็นวิธีการที่ง่าย และเป็นการนำไปสู่การพัฒนาระบบเกษตรกรรมในเขตพื้นที่การเกษตรน้ำฝนให้มีความ มั่นคงและยั่งยืน สามารถนำวิธีการนี้ไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พื้นที่สองข้างของทางคลองชลประทานอ่างเก็บน้ำ บ่อน้ำ ป่าไม้ ป้องกันขอบตลิ่ง คอสะพาน ไหล่ถนนพังทลาย เป็นต้น

และตลอดมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายหลายแห่งได้นำหญ้าแฝกมารณรงค์เพื่อการ ปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศ พร้อมกันนี้ก็มีแนวทางในการรณรงค์หลากหลายรูปแบบเพื่อก่อให้เกิดการร่วมแรง ร่วมใจในการนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์ดินอย่างล่าสุด นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสาน งานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมพัฒนาที่ดิน จัดประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2551 ขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน สถานศึกษา และบุคคลทั่วไป ที่ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่จริง และเกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน สามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. ประเภทการปลูก 2. ประเภทส่งเสริมการปลูก 3. ประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ และสิ่งประดิษฐ์ใหม่จากใบหญ้าแฝก

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก ซึ่งปรากฏว่า นายสมโชค สำราญ เป็นผู้ชนะเลิศการประกวดประเภทการปลูก โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ได้ส่งเข้าประกวดในนามของเกษตรกรผู้ปลูก ด้วยเป็นบุคคลที่ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่จริง ณ พื้นที่บ้านโคกอิฐ-โคกใน หมู่ที่ 2 ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในพื้นที่ 12 ไร่ โดยเริ่มปลูกตั้งแต่ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมาเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินบนร่องสวน รักษาความชุ่มชื้นในดิน ลดการงอกของวัชพืช และเพื่อเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน โดยมีการปลูก 3 รูปแบบ คือ ปลูกบนพื้นที่แนวขอบคันยกร่อง เพื่อป้องกันดินขอบร่องพังทลาย ปลูกระหว่างแถวร่วมกับพืชไร่ และปลูกล้อมรอบพื้นที่ปลูกพืชผักและไม้ผล เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุแก่ดิน ด้วยวิธีการตัดใบหญ้าแฝกมาคลุมดิน จึงทำให้ นายสมโชค สำราญ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทการปลูก ผลงานบุคคล รับรางวัลเงินสด 90,000 บาท พร้อมโล่รางวัลพระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเกียรติบัตร

นายเฉลิมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จาก แนวพระราชดำริหญ้าแฝก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานในการแก้ไขการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ต่าง ๆ ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ราษฎรสามารถนำไปขยายผลและปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง จนทำให้สามารถฟื้นฟูดินให้ มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตจากการเกษตรดีขึ้น และที่สำคัญมีรายได้เพิ่มขึ้น และ พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจากการที่ได้มีการจัดประกวดฯ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พิสูจน์ได้ว่า พระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก ได้ส่งผลการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน”

http://www.pikunthong.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น