วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

'กระเจี๊ยบ'...มากคุณค่าสารพัดประโยชน์

หลาย คนคงเคยดื่มน้ำกระเจี๊ยบสีแดงสวยสดงดงาม รู้ไหมว่ามันมีสรรพคุณทางยาด้วย ดังนี้...รสเปรี้ยวของดอกกระเจี๊ยบทำให้ชุ่มคอ ช่วยย่อยอาหาร หล่อลื่นลำไส้ นำกลีบเลี้ยงและกลีบรองมาตากแห้ง บดเป็นผงละเอียด ชงกับน้ำร้อนครั้งละ 1 ช้อนชา ดื่ม 3 เวลา เช้า กลางวันและเย็น แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยป้องกันการจับตัวของไขมันในเส้นเลือดได้ แก้อาการขัดเบา เป็นยากัดเสมหะ นอกจากนั้นยังสามารถนำมาทำขนมเป็นแยม เยลลี่ แกงส้มกระเจี๊ยบ ยำดอกกระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบเชื่อม กระเจี๊ยบแช่อิ่ม...เห็นไหมสามารถนำมาทำได้ตั้งหลายอย่าง

หมายเหตุ กระเจี๊ยบแดงอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ในผู้ป่วยบางราย เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบายด้วย

กระเจี๊ยบเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงราว 3-6 ศอก ลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วงแดง ใบมีหลายแบบ ขอบใบเรียบ บางครั้งมีหยักเว้า 3 หยักด้วยกัน ดอกสีชมพูตรงกลางดอกมีสีเข้มมากกว่าขอบนอกของกลีบ กลีบดอกร่วงโรยไป กลีบรองดอกและกลีบเลี้ยงก็จะเจริญเติบโตขึ้นอีกเกิดเป็นสีม่วงแดงเข้มหุ้ม เมล็ดเอาไว้ภายใน

กระเจี๊ยบแดงเป็นพืชไวแสงที่สามารถปลูกได้ทั่วไป ชอบอากาศร้อนหรือค่อนข้างร้อน ทนต่อความแห้งแล้ง และไม่ชอบน้ำขัง ใช้วิธีปลูกในแปลงปลูก โดยหยอดเมล็ดตามแถวที่ไถไว้ หยอดหลุมละประมาณ 4-5 เมล็ด ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 70 เซนติเมตร แล้วกลบดินเล็กน้อย เมื่อกระเจี๊ยบแดงเป็นต้นอ่อนอาจถอนทิ้งหลุมละ 2-3 ต้น เพื่อให้ไม่แน่นมากนัก ควรให้น้ำสม่ำเสมอในช่วง 1-2 เดือนแรก หลังจากนั้นจะปล่อยตามธรรมชาติ

นอกจากนี้ อาจปลูกในพื้นที่แปลง ข้าวโพด เมื่อปลูกข้าวโพดแล้วประมาณ 1 เดือน โดยนำเมล็ดกระเจี๊ยบแดงผสมลงไปกับปุ๋ยข้าวโพด แล้วนำใส่เครื่องหยอดพ่วงกับรถไถเดินตาม หยอดตามช่องว่างระหว่างแถวข้าวโพด ต้นกระเจี๊ยบแดงจะเจริญเติบโตระหว่างแถวข้าวโพด เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดแล้วกระเจี๊ยบแดง อยู่ในช่วงออกดอกพอดี

พันธุ์ที่ใช้ปลูกคือพันธุ์ซูดานหรือพันธุ์เกษตร เนื้อหนา มีสีแดงเข้มจนถึงม่วงลักษณะกลีบเลี้ยงค่อนข้างหนา เนื้อบาง มีสีแดงสด ลักษณะกลีบเลี้ยงค่อนข้างบาง การเก็บเกี่ยวนั้นควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่พืชเจริญเติบโตเต็มที่ คือ ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวใช้เวลา 4 เดือน ถึง 4 เดือนครึ่ง

ดอกกระเจี๊ยบที่เก็บเกี่ยวได้ให้นำมากระทุ้งให้กลีบดอกและกระเปาะเมล็ดหลุด ออกจากกันโดยใช้เหล็กกระทุ้ง และนำกลีบดอกที่กระทุ้งได้มาตากในภาชนะที่สะอาด ไม่มีฝุ่น ตากแดดประมาณ 5-6 วัน หรืออบให้แห้งสนิท จึงทยอยเก็บ ส่วนกระเปาะเมล็ดให้แยกตาม เมื่อแห้งสนิทให้ร่อนเมล็ดออก นำไปจำหน่ายได้เช่นกัน

เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งว่า ณ บัดนี้ ทางราชมงคลธัญบุรีเขาประดิษฐ์ เครื่องแกะดอกกระเจี๊ยบ เพื่อช่วยให้เกษตรกรลดขั้นตอนการผลิตกระเจี๊ยบแห้งลง อันนี้เป็นฝีมือนักศึกษาคือ นายพุธวงค์ นาทอง และ นางสาววิไลพร คำงาม เป็นนักศึกษาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่พวกเขาคิดสร้างเครื่องนี้ขึ้น ก็เพื่อลดแรงงานคนในการแกะดอกกระเจี๊ยบ และเพิ่มปริมาณการผลิตในเวลาเดียวกัน เครื่องนี้จะประกอบด้วยส่วนหลัก ๆ อยู่ 2 ส่วนคือ ส่วนของการลำเลียง และ ส่วนของการเจาะเอาเมล็ดกระเจี๊ยบออกจากกลีบดอก แม้ใน การป้อนดอกกระเจี๊ยบจะยังใช้มืออยู่ แต่ก็สามารถ ทำงานได้เร็ว และไม่ทำให้ผู้แกะต้องเจ็บมืออีก ต่อไป

ผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โทร.0-2549-3328.

อุบลวรรณะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น