วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

บ้านทุ่งกระเทียม จ.พะเยา ชุมชนต้นแบบบริหารน้ำดีเด่น

อ่าง เก็บน้ำห้วยไฟ อันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านทุ่งกระเทียม ต.ภูซาง อ.ภูซาง จ.พะเยา ที่นี่มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อบริหารจัดการน้ำ ในนามของกลุ่มผู้ใช้น้ำและได้รับรางวัลการบริหารจัดการน้ำดีเด่นในเขตภาค เหนือ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้พัฒนาอ่าง เก็บน้ำห้วยไฟแห่งนี้ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาเกษตรครบวงจรโดยมีกรมวิชาการเกษตรดูแล มีการบูรณาการแบบเบ็ดเสร็จ เช่นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง กรมประมงดูแลการส่งเสริมการประมง กรมพัฒนาที่ดินดูแลการพัฒนาที่ดิน ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรจัดการแปลงเกษตรแบบขั้นบันได กรมชลประทานดูแลเรื่องระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปยังแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา

ในอดีตก่อนที่จะมีอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ขึ้นมา ราษฎรในพื้นที่มีความยากลำบากมาก เนื่องจากป่าต้นน้ำถูกทำลายทำให้เกิดความแห้งแล้ง ต่อมาราษฎรไม่น้อยกว่า 5 หมู่บ้าน ต้องอพยพไปหาที่ทำกินแห่งอื่น เช่น อ.เชียงของ จ.เชียงราย อ.ท่าวังผา จ.น่าน แต่หลังจากได้ถวายฎีกาขออ่างเก็บน้ำ ราษฎรที่อพยพออกไปก็กลับเข้าสู่ภูมิลำเนาเดิมด้วยพบว่าพื้นที่มีความสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชตามที่ถนัด

ทั้งนี้เมื่อปี 2524 ทางกรมชลประทานได้เข้าสำรวจพื้นที่ภายหลังจากที่ราษฎรได้ฎีกา ขอความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พบว่ามีความเป็นไปได้จึงก่อสร้างทันที เสร็จประมาณต้นปี 2526 จากนั้นปี 2531 ราษฎรในพื้นที่ได้จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้น โดยเริ่มแรกกลุ่มนอกจากทำหน้าที่ด้านการบริหารจัดการน้ำแล้วก็ยังทำหน้าที่ เก็บผลผลิตข้าวจากสมาชิกที่ทำนาได้ผลดีเอามารวมกัน เพื่อให้เกษตรกร รายที่มีผลผลิตไม่ค่อยได้ผลมากู้ยืมไปบริโภคภายในครัวเรือนจนถึงปี 2535 ก็หยุดเก็บ เนื่องจากทุกคนมีข้าวเต็มยุ้งฉางใช้บริโภคได้ทั้งปี ด้วยมีน้ำอุดมสมบูรณ์ทำให้ผลผลิตข้าวต่อไร่ดีขึ้นจากที่เคยได้ไร่ละ 40-50 ถัง ก็เพิ่มเป็น ไร่ละ 60-70 ถัง และเป็นผลให้ราษฎรที่จากเดิมหลังเก็บเกี่ยวจะอพยพไปขายแรงงานที่อื่น มา เป็นไม่ต้องห่างเหินครอบครัวอีกต่อไป เพราะเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงประจำฤดูกาลแล้วก็สามารถเพาะปลูกพืชในฤดู แล้งได้อย่างต่อเนื่องทันทีเพราะมีน้ำเพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็น กระเทียม หอมแดง ถั่วลิสงและพืชอื่น ๆ อีกหลายชนิด

วันก่อนคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักราชเลขาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมพื้นที่โดยมีคุณเรืองวรรณ บัวนุช ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา หัวหน้าส่วนราชการและราษฎรในพื้นที่ให้การต้อนรับและนำ ชม

พบว่าภายหลังจากที่มีการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่ป่าบริเวณทางตอนเหนือของอ่าง เก็บน้ำ เป็นผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ และในตอนนี้ทางจังหวัดพะเยาได้เพิ่มความรู้ด้านงานวิชาการเรื่องของการเพาะ ปลูกกระเทียมและพืชหลัก ต่าง ๆ ที่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ให้กับเกษตรกร เพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตในพื้นที่การเพาะปลูกมากกว่าที่ผ่านมา เช่น การจัดการแปลงเกษตรแบบขั้นบันไดอย่างถูกวิธี ระบบส่งน้ำ การปลูกพืชพลังงานทดแทน รวมทั้งเรื่องประมง และเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกันนี้ก็ได้มีการเน้นการดูแลระบบนิเวศของป่าต้นน้ำลำธาร เพราะที่นี่หัวใจคือเรื่องความสมบูรณ์ของต้นน้ำลำธาร โดยมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาช่วยดูแลจัดทำฝายชะลอความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่

วันนี้อ่างเก็บน้ำห้วยไฟ อันเนื่องมา จากพระราชดำริ ได้ก้าวเข้าสู่คำว่า เป็นแหล่ง บริหารจัดการน้ำที่ราษฎรเป็นผู้ดำเนินการและมีหน่วยงานราชการเป็นพี่เลี้ยง ภายใต้แนวทางการบูรณาการที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับพื้นที่อื่น ๆ ได้นำไปเป็นแบบอย่างเพื่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนเองกันอย่าง กว้างขวางต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น