วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

หนุนเกษตรกรปลูก 'มะเขือเทศราชินี' ป้อนตลาด...

ขณะนี้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร กรรม (ส.ป.ก.) ส่งเสริมเกษตรกรใน เขตปฏิรูปที่ดินพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ นครปฐม ให้ปลูกมะเขือเทศราชินีและแตงแคนตาลูปในรูปแบบคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) เพื่อป้อนผลผลิตเข้าสู่ตลาดซึ่งกำลังมีความต้องการสูง ทั้งตลาดโมเดิร์นเทรดและตลาดทั่วไป ซึ่งผู้บริโภคนิยมรับประทานมะเขือเทศราชินีผลสดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งยังใช้เป็นส่วนประกอบของสลัดและเป็นของว่างด้วย

ส.ป.ก. คัดเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมนำร่อง กว่า 50 ไร่ในจังหวัดเพชรบูรณ์และนครสวรรค์และเร่งคัดเลือกเพิ่มเติมอีกเพื่อให้มีพื้นที่ปลูกหมุนเวียน 300-500 ไร่/ปี เกษตรกรประมาณ 300-500 ราย ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาด ในรอบ 1 ปี เกษตรกรสามารถที่จะปลูกมะเขือเทศราชินีได้ถึง 3 รอบการผลิต ต้นทุนประมาณ 15,000 บาท/ไร่ หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วคาดว่า เกษตรกรจะมีกำไรเหลือ 7,000-10,000 บาท/ไร่

หลังปลูกมะเขือเทศราชินีประมาณ 90 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้ โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,000-4,000 กิโลกรัม/ไร่ ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการแปลงของเกษตรกร สำหรับแตงแคนตาลูปมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 35,000 บาท/ไร่ หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเกษตรกรจะมีกำไรเหลือประมาณ 20,000-30,000 บาท/ไร่ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นทางเลือกสำหรับการสร้างอาชีพของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชนบทและช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนด้วย

กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มะเขือเทศราชินีเป็นผลไม้ไทยที่มีสารเบต้าแคโรทีน วิตามิน ซี และวิตามินอีสูง ซึ่งเป็นกลุ่มของสารอาหาร ที่ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระที่ก่อให้ร่างกายเกิด การอักเสบทำลายเนื้อเยื่อโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะ เบต้าแคโรทีนจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ในร่างกาย ช่วยยับยั้งการกลายพันธุ์ในเซลล์ ป้องกันเนื้องอก ลดความเสี่ยงการเป็นต้อกระจก มะเร็งและหัวใจได้ ดังนั้น จึงควรรับประทานผลไม้ดังกล่าว เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเอง นางนัทยา จงใจเทศ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการทำวิจัย “องค์ความรู้เรื่องปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในผลไม้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ (วิตามินซี วิตามินอี และ เบต้าแคโรทีน) ในผลไม้” ที่ทำการศึกษาในผลไม้ 83 ชนิด พบว่า ผลไม้ 10 อันดับแรกที่มีเบต้าแคโรทีนสูงคือ มะม่วงน้ำดอกไม้สุก มะเขือเทศราชินี มะละกอสุก กล้วยไข่ มะม่วงยายกล่ำ มะปรางหวาน แคนตาลูปเนื้อเหลือง มะยงชิด มะม่วงเขียวเสวยสุก และสับปะรดภูเก็ต

ผลไม้ทั้งหมดนี้มีเนื้อสีเหลืองและสีเหลืองเข้ม ส่วนผลไม้ที่ไม่มีเบต้าแคโรทีนเลย อาทิ แก้วมังกร มะขามเทศ มังคุด ลิ้นจี่ และสาลี่ เป็นต้น ส่วน 10 อันดับแรกของผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงคือ ฝรั่งกลมสาลี่ ฝรั่งไร้เมล็ด มะขามป้อม มะขามเทศ เงาะโรงเรียน ลูกพลับ สตรอเบอรี่ มะละกอสุก ส้มโอขาวแตงกวาและพุทราแอปเปิ้ล

“วิตามินอีมีในผลไม้ไม่มากนัก เพราะผลไม้ไม่ใช่แหล่งของวิตามินอี การศึกษานี้พบ ผลไม้ที่มีวิตามินอีสูง 10 อันดับแรกคือ ขนุน หนัง มะขามเทศ มะม่วงเขียวเสวยดิบ มะเขือเทศราชินี มะม่วงเขียวเสวยสุก มะม่วงน้ำดอกไม้สุก มะม่วงยายกล่ำสุก แก้วมังกรเนื้อสีชมพู สตรอเบอรี่และกล้วยไข่” นางนัทยา กล่าว

ทั้งนี้ ผลไม้ประเภทเดียวกันแต่สีไม่เหมือนจะมีไม่เท่ากัน เช่น แคนตาลูปเนื้อสีเหลืองมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระโดยเฉพาะเบต้าแคโรทีน มากกว่าแคนตาลูปเนื้อสีเขียว นอกจากนี้พบว่า ผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีน วิตามินซี และวิตามินอีน้อยทั้ง 3 ตัว คือ สาลี่ องุ่น และแอปเปิ้ล ส่วนผลไม้ที่มีสารทั้ง 3 ตัว ค่อนข้างสูงคือ มะเขือเทศราชินี

สำหรับเบต้าแคโรทีน วิตามินซีและอี เป็นกลุ่มของสารอาหารที่ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ ตัวก่อให้ร่างกายเกิดการอักเสบ ทำลายเนื้อเยื่อ เกิดต้อกระจกในผู้สูงอายุ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด สารทั้ง 3 ตัว โดยเฉพาะเบต้าแคโรทีนจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ ป้องกันเนื้องอก ลดความเสี่ยงการเป็นต้อกระจก มะเร็งและหัวใจได้

จึงควรรับประทานผลไม้ในปริมาณมากพอสมควรทุกวัน หรืออย่างน้อยวันละ 4 ส่วนของอาหารที่รับประทาน.

สุโขสโมสร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น