วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ห้วยปลาหลด อ.แม่สอด จ.ตาก ที่นี่ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ

หมู่ บ้านห้วยปลาหลด อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านมีการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนมีการจัดสรรพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเหมาะสมมีการ ร่วมกันปลูกป่าและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาความชุ่มชื้นของป่าด้วยฝายชะลอความชุ่มชื้นตามแนวพระราชดำริ และปลูกป่าเศรษฐกิจ เพื่ออยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า

มีพื้นที่ที่เป็นหมู่บ้าน 200 ไร่ พื้นที่ป่าหลาย พันไร่ เดิมจะเป็นป่าหญ้าคา เพราะมีการตัดไม้มากเมื่อปี พ.ศ. 2510 มีแต่เขาหัวโล้น และต่อมาในปี พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้คนไทยทั้งประเทศช่วยกันปลูก ป่าและรักษาป่าเพื่อประโยชน์ในการทำกิน แต่ผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังไม่เข้าใจคงแผ้วถางเพิ่มพื้นที่เพื่อเพาะปลูก ดังเดิม ในที่สุดความแห้งแล้งจึงเข้ามาเยือน จวบจนถึงปี พ.ศ. 2527 จึงเริ่มมีการปลูกป่าชุมชนขึ้นมา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) ได้จัดทำโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้น โดยดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่เสื่อมโทรมทั่วประเทศ และที่หมู่บ้านห้วยปลาหลดแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ของโครงการด้วย โดยการให้ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ นับตั้งแต่การปลูก ดูแลบำรุงรักษา ป้องกันไฟป่า จนต้นไม้เจริญเติบโตให้ร่มเงาและความชุ่มชื้นกับพื้นที่แบบวงกว้าง ทาง กฟผ. สนับสนุนงบประมาณและต้นกล้า ระหว่างนั้นชาวชุมชนจึงมีรายได้จากการปลูกและดูแลรักษาป่า โดยไม่ต้องเปิดพื้นที่ป่าเพื่อเพาะปลูกอีก

ปี พ.ศ. 2549 น้ำธรรมชาติในพื้นที่จึงกลับมา และไหลตลอดทั้งปี รวมเวลาสำหรับการฟื้นฟูพื้นที่แห่งนี้ร่วม 20 กว่าปี มาถึงวันนี้ประชาชนก็ไม่ต้องลำบากในเรื่องน้ำเพื่อการทำกินอีกต่อไป อาชีพโดยทั่วไปของชุมชนแห่งนี้ส่วนหนึ่งรับจ้างปลูกป่าให้กับอุทยานฯ (หน่วยต้นน้ำดอยมูเซอ) ส่วนหนึ่งทำการเกษตรโดยใช้พื้นที่ป่าที่ปลูกขึ้นมาแบบไม่แผ้วถางพื้นที่ ปลูกแบบแซมใต้ต้นไม้ใหญ่ให้เป็นกลุ่มไม้ชั้นสามของระบบนิเวศวิทยาป่าไม้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเภทกาแฟพันธุ์ต่าง ๆ และ เลี้ยงสัตว์ เมื่อถึงหน้าแล้งทำหน้าที่รับจ้างดับไฟป่า หน้าฝนก็รับจ้างปลูกป่า และเก็บของป่าขาย เช่น ลูกเนียง หน่อไม้ กาแฟ

สำหรับลูกเนียงนั้นที่แห่งนี้จะออกลูกก่อนพื้นที่ทางภาคใต้ จึงทำให้ลูกเนียงจากดอยแห่งนี้ล่องลงไปจำหน่ายยังภาคใต้ โดยมีตลาดหัวอิฐ จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นแหล่งขายแหล่งใหญ่ จากนั้นก็กระจายไปทั่วพื้นที่ภาคใต้ หลายท่านจึงมารู้ทีหลังว่าทำไมภาคใต้จึงมีลูกเนียงให้ได้บริโภคทั้งปี ทั้ง ๆ ที่ต้นเนียงที่ภาคใต้ไม่ได้ออกลูกทั้งปี

ทั้งนี้ก็เนื่องจากสภาพป่าของห้วยปลาหลดมีความสมบูรณ์ดีบรรยากาศจึงไม่ต่าง จากพื้นที่ฝนแปดแดดสี่อย่างภาคใต้แต่ประการใด ปัจจุบันบริเวณเชิงเขาชาวชุมชนจะเข้าไปสร้างฝายเล็ก ๆ โดยทั่วไปซึ่งมีอยู่กว่า 500 ฝาย แต่ละฝายจะต่อท่อน้ำที่ใช้ทั้งวัสดุทางธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่และท่อพีวีซี มาเป็นอุปกรณ์ส่งน้ำเข้าสู่แปลงเพาะปลูก ซึ่งจะปลูกพืชผักทั้งประจำฤดูกาลและถาวร ที่ถาวรก็เห็นจะเป็นฟักแม้ว ที่ปลูกทั้งตัดยอดและเก็บลูก โดยฟักแม้วที่ต้องการเอาลูกทั้งเพื่อทำพันธุ์และจำหน่ายลูกไปประกอบอาหารของ ผู้ซื้อจะปลูกแบบมีนั่งร้านหรือที่เรียกกันในวงการเกษตรว่าค้าง ไว้รองรับโดยให้เถาของฟักแม้วไต่เลื้อยขึ้นไปรับแสงตะวันอย่างเต็มที่ ลูกที่ออกมาก็จะห้อยเรียงรายเก็บได้สะดวก ส่วนที่ตัดยอดจะปลูกแบบติดพื้นดินเป็นกอ ๆ กอหนึ่งมีประมาณ 4-5 ต้น โดยปล่อยให้ยอดแทงออกมาตลอดเวลาแบบแนวดิ่ง ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวยอดได้ทุกวัน และการปลูกที่นี่จะไม่มีการใช้สารเคมีแต่ประการใด ด้วยมีน้ำเพียงพอจึงอาศัยน้ำฉีดพ่นแบบธรรมชาติทั้งเช้าและเย็น แมลงที่หวังจะเข้ามาไต่ตอมเพื่อวางไข่ก็จะถูกน้ำชะล้างไปหมดทุกวัน

การปลูกพืชของหมู่บ้านห้วยปลาหลดในทุกชนิดผักจะใช้วิธีการเดียวกันนี้ ฉะนั้นผลผลิตจากพื้นที่แห่งนี้จึงปราศจากสารเคมีอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง และเป็นผลทำให้ผลผลิตที่ออกมาในแต่ละวันไม่พอขายทีเดียว

และที่พื้นที่สามารถเป็นเช่นนี้ได้ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเพราะมีการเข้าไปปลูกป่า เพิ่มพื้นที่ป่า และมีการบริหารจัดการพื้นที่ป่าโดยชุมชนเอง ป่าจึงให้คุณโดยการสร้างความชุ่มชื้นและให้น้ำได้ใช้อุปโภคและบริโภคตลอด ทั้งปีเรื่อยมาจวบจนทุกวันนี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น