วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ขึ้นเชียงใหม่แวะแม่แตงเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

ณ วันนี้พื้นที่ภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ดูจะยังอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วไป ไม่น้อย เนื่องจากสภาพอากาศยังเย็นเป็นที่ต้องการของใครต่อใครอยู่ เมื่อเดินทางขึ้นไปและหากมีเวลาก็ลองแวะเข้าไปเยี่ยมชม ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในนิคมสหกรณ์แม่แตงดูแล้วจะเข้าใจทันทีว่าทำไม ประชาชนในพื้นที่แห่งนี้จึงไม่ทุกข์ร้อนกับภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้เหมือนกับคน เมือง หรือคนที่เข้าเมืองเพื่อหางานทำ

นิคมสหกรณ์แม่แตง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับเลือกให้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เมื่อไม่นานมานี้ กิจกรรมภายในศูนย์มีหลายอย่าง โดยแบ่งเป็นกิจกรรมที่ให้ผลตอบแทนระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี อาทิ การเลี้ยงหมู เลี้ยงกบ เลี้ยงปลาในกระชัง เลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก การเพาะเห็ด และการปลูกผักปลอดสารพิษ ส่วนที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวเกิน 1 ปี ก็มี การปลูกเสาวรส การเลี้ยงโคเนื้อ และการเลี้ยงแพะ นอกนั้นเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกษตรกรประหยัดรายจ่าย โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่มาทำให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า อาทิ การปลูกพืชสมุนไพร การผลิตน้ำส้มควันไม้ การทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และการทำแก๊สชีวภาพ เป็นต้น

ทางศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงแห่งนี้ภายหลังการจัดตั้งก็ทำหน้าที่โดยการ จัดอบรมเกษตรกรที่เป็นสมาชิกรุ่นแรก 30 คน ให้มาเรียนรู้การทำเกษตรแบบพอเพียง โดยพึ่งพิงเทคโนโลยีน้อยที่สุด เพื่อให้สามารถลดรายจ่าย ทำให้ครอบครัวมีความมั่นคงยั่งยืน เข้มแข็ง ซึ่งจะส่งผลให้สถาบันสหกรณ์ที่สังกัดอยู่เข้มแข็งไปด้วย

จุดประสงค์หลักของศูนย์คือ ให้ครัวเรือนอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยมีอาหารการกินตลอดทั้งปี ไม่ต้องไปซื้อไปหา และถ้ากินใช้อยู่ในครัวเรือนจนเหลือแล้วสามารถนำไปขายสร้างรายได้ ขณะเดียวกันทางศูนย์ฯ ก็จะสอนให้ทำบัญชีเรียนรู้การรับ-จ่าย ประจำวัน และประจำเดือน จึงเป็นผลให้ทุกคนรับรู้ถึงสถานะของตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา การออมอย่างถูกวิธีจึงเกิดขึ้นตามธรรมชาติ

นิคมสหกรณ์แม่แตง จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งนิคมสหกรณ์ในท้องที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2513 โดยอาศัย พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มีพื้นที่ประมาณ 14,798 ไร่ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 แปลง คือ แปลงที่ 1 พื้นที่ประมาณ 6,948 ไร่ อยู่ในท้องที่ตำบลสบเปิง และตำบล ขี้เหล็ก แปลงที่ 2 พื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ อยู่ในท้องที่ตำบลสันมหาพน และตำบลขี้เหล็ก แปลงที่ 3 พื้นที่ประมาณ 1,750 ไร่ อยู่ในท้องที่ตำบลแม่แตง แปลงที่ 4 พื้นที่ประมาณ 2,100 ไร่ อยู่ในท้องที่ตำบลอินทขิล มีอำนาจหน้าที่จัดสรรที่ดินของรัฐภายในแนวเขตที่ดินตามแผนที่ท้ายพระราช กฤษฎีกา ตามจำนวนดังกล่าวให้แก่ ราษฎรที่ไม่มีที่ทำกินหรือมีน้อย ไม่เกินครอบครัวละ 50 ไร่ และส่งเสริมแนะนำการบริหารงานการจัดการสหกรณ์นิคมแม่แตง จำกัด

โครงการฝึกอบรมอาชีพให้กับเกษตรกรของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงแห่งนี้ ได้ดำเนินการทั้งการอบรมในภาคทฤษฎี การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งการฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปประกอบอาชีพได้ อย่างถูกต้องและประสบผลสำเร็จ ซึ่งโครงการที่จัดฝึกอบรมนั้น ได้ดำเนินตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เกษตรกรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ มีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันตัวเองที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทนในการใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา มีความสามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

สำหรับท่านที่สงสัยและยังมองไม่เป็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถทำให้ประชาชนมีกินอยู่ดีและมีเหลือเพื่อขาย สร้างรายได้เข้าครอบครัวอย่างไม่กระทบกระเทือน แม้สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันกำลังย่ำแย่อยู่ก็ตามนั้นเป็นอย่างไร ก็ลองแวะเข้าไปในพื้นที่ที่กล่าวถึงนี้แล้วคุยกับสมาชิกของศูนย์ฯ ท่านก็จะรู้อย่างเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะที่แห่งนี้มีตัวอย่างให้ได้เห็นอย่างชัดเจนทีเดียว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น