วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง นิคมสหกรณ์แม่แตง

จาก พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง การประกอบอาชีพอย่างพออยู่พอกิน โดยอาศัยการผลิตเพื่อให้เกิดในครัวเรือน และเหลือจากการใช้ในครัวเรือนก็นำไปจำหน่ายเพื่อก่อให้เกิดรายได้ เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ได้มีแนวพระราชดำรัสให้ดำเนินการเกษตรผสมผสาน ตามแนวทฤษฎีใหม่

และได้ดำริให้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ตามศูนย์ต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยเน้นในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทดลอง การผลิตทั้งพืชและสัตว์ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริและสืบสานพระราชปณิธานและดำเนินตามรอยเบื้องพระ ยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างได้น้อมนำพระราชดำริไปปฏิบัติใช้และหนึ่งในนั้นก็ มีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยเฉพาะนิคมสหกรณ์แม่แตง สำนัก งานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดที่ดินให้ราษฎรในเขตท้องที่อำเภอแม่แตงกว่า 12,700 ไร่ ในสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบเชิงเขา ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ มีปริมาณน้ำค่อนข้างจำกัด ทำให้สมาชิกและราษฎรบริเวณใกล้เคียง ประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพ ขาดการจัดการดินและทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นิคมสหกรณ์แม่แตงจึงได้จัด ทำโครงการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในเขต นิคมสหกรณ์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยใช้พื้นที่ส่วนกลางของนิคมสหกรณ์แม่แตง จำนวน 50 ไร่ แล้วดำเนินการปรับสภาพพื้นที่ดังกล่าวเพื่อจัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียง

มีการคัดเลือกสมาชิก ราษฎรหรือสมาชิกในครัวเรือนหมุนเวียนเข้าเรียนรู้ และปฏิบัติจริงในแปลงสาธิต มีการมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากที่ดินทำกิน ประกอบอาชีพการเกษตร และปรับเปลี่ยนทัศนคติแนวคิดตลอดจนวิธีการผลิตมาเป็นการเกษตร โดยอาศัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ภูมิปัญญาและวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นการลดต้น ทุนการผลิต เพิ่มรายได้ ฝึกนิสัยในการขยัน ประหยัด อดทนและอดออม อันจะส่งผลให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตในครอบครัวที่ดีขึ้น มีการดำรงชีวิตแบบพอมีพอกินและพึ่งตนเอง มีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน มีผลผลิตเหลือเพื่อจำหน่าย เสริมสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว และสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับการครองชีพ ตลอดทั้งเป็นการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งแล้วนำไปขยายผลต่อไปยังกลุ่มคนอื่น ๆ เป็นรูปแบบเครือข่ายกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มการผลิต ตลอดทั้งแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกินมีประสิทธิภาพ และเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศชาติ

วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ มีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่และปรัชญา เศรษฐกิจแบบพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นศูนย์แหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร โดยให้สมาชิกนิคมสหกรณ์ เข้ามาเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงและเป็นแหล่งศึกษาดูงานของเกษตรกรใน พื้นที่และเกษตรกร ทั่วไป เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกให้รู้จักความขยัน ประหยัด อดทน และอดออมในการประกอบอาชีพ

ตลอดปีงบประมาณ 2551 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านอาชีพที่สมาชิกสนใจ เป็นที่ต้องการของตลาดและสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นการขยายองค์ความรู้ด้านการพัฒนาอาชีพเดิมให้เข้มแข็ง เพิ่มเติมอาชีพใหม่ ที่หลากหลาย และเพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการประกอบอาชีพ จำนวน 15 กิจกรรมด้วยกัน ประกอบด้วย การเรียนรู้ด้านการเลี้ยงโคขุน การเรียนรู้ด้านการเลี้ยงสุกร การเรียนรู้ด้านการเลี้ยงแพะ การเรียนรู้ด้านการเลี้ยงกบ การเรียนรู้ด้านการเลี้ยงปลาในกระชัง การเรียนรู้ด้านการเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก การเรียนรู้ด้านการเพาะเห็ด การเรียนรู้ด้านการปลูกผักปลอดสารพิษ การเรียนรู้ด้านการปลูกพืชสมุนไพรพื้นบ้าน การเรียนรู้ด้านการปลูกเสาวรส การเรียนรู้ด้านการปลูกยางพารา การเรียนรู้ด้านเตาเศรษฐกิจประหยัดพลังงาน การเรียนรู้ด้านปุ๋ยอินทรีย์/ปุ๋ยชีวภาพ การเรียนรู้ด้านบ่อแก๊สชีวภาพ และแปลงสาธิตพืชพลังงานทดแทน

ล่าสุดทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดโครงการสื่อมวลชนสัญจรโดยนำคณะผู้สื่อ ข่าวจากส่วนกลางเดินทางเข้าศึกษาการดำเนินงานของโครงการฯ ซึ่งหลายท่านให้ความสนใจกับการคัดเลือกเกษตรกรสมาชิกนิคมสหกรณ์ หรือบุคคลในครอบครัวสมาชิกว่ามีขบวนการในการคัดเลือกอย่างไร ก็พบว่าประเด็นสำคัญอันดับหนึ่งอยู่ที่ความสนใจและการยอมรับของสมาชิกที่จะ เข้ารับการอบรมและฝึกปฏิบัติ จากนั้นก็ทำความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนด ขึ้นของโครงการ อาทิ การเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ตามจำนวนที่เหมาะสมกับกิจกรรมที่ศูนย์เรียนรู้ได้กำหนดขึ้น และหลังจากผ่านการฝึกอบรมภาควิชาการแล้ว ก็จะต้องเข้ารับการเรียนรู้ด้วยการฝึกปฏิบัติจริง ภายใต้การให้คำปรึกษาแนะนำจากหน่วยงานบูรณาการที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละ ด้าน

ขณะเดียวกันเกษตรกรสมาชิกที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาเรียนรู้ในศูนย์ฯ จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในด้านเทคโนโลยีการประกอบอาชีพที่ได้ ศึกษามาให้กับเกษตรกรรุ่นต่อ ๆ ไปที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ต่อไปด้วย

จากการพบปะกับเกษตรกรหลายราย ในวันดังกล่าวพบว่า ต่างมีความสุขและพึงพอใจกับการได้เข้ามาศึกษาในศูนย์แห่งนี้และต่างก็ให้ ความมั่นใจในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง แล้ว โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น