วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

อ่างเก็บน้ำห้วยยัดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เมื่อ วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2543 นายบุญช่วย บัวเย็น ราษฎร ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา ได้มีหนังสือขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้ทางราชการดำเนินการก่อสร้างอ่าง เก็บน้ำที่ลำห้วยยัด เพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝนและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและช่วยเหลือ พื้นที่การเกษตรของราษฎรหมู่ที่ 12 บ้านผาลาด ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา

ต่อมาทางสำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือไปยังกรมชลประทานขอให้พิจารณาศึกษา ความเป็นไปได้ตามที่ราษฎรร้องขอ ทางกรมชลประทานได้เข้าไปศึกษารายละเอียดของพื้นที่พบ ว่ามีความเป็นไปได้สำหรับการดำเนินการตามที่ ราษฎรร้องขอ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ดังกล่าวจึงเกิดขึ้น พร้อมกันนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยยัดไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเมื่อ วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2544

อ่างเก็บน้ำห้วยยัดตั้งอยู่ที่บ้านผาลาด หมู่ที่ 3 ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา สร้างเพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือ ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ ให้มีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร กรมชลประทานเป็นประเภทของโครงการการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรและการอุปโภค บริโภค เป็นการก่อสร้างทำนบดิน ขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 200 เมตร สูง 14 เมตร พร้อมระบบส่งน้ำ ซึ่งสามารถช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานได้ 2,100 ไร่ โดยได้รับงบประมาณในการก่อสร้างจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) สามารถจัดหาแหล่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 2,100 ไร่ โดยมีความจุที่ระดับเก็บกัก 1.06 ล้าน ลูกบาศก์เมตร

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำแห่งนี้สามารถช่วยเหลือราษฎร เพื่อใช้อุปโภคบริโภคและใช้สอยประเภทอื่น ๆ อีกกว่า 117 ครัวเรือน ประชากรกว่า 565 คน ที่สำคัญได้เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เมื่อถึงช่วงหน้าฝน และเมื่อถึงหน้าแล้งก็ยังคงมีน้ำให้ได้ใช้อย่างต่อเนื่อง ยังผลให้ราษฎรสามารถทำการเพาะปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี ก่อให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างเห็นได้ชัด

ประเภทพืชที่ปลูกในช่วงฤดูฝนจะเป็นจำพวกข้าวนาปี เมื่อถึงฤดูแล้งก็ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งปลูกได้มากถึง 2 รุ่น อันเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าพื้นที่นั้นมีน้ำเพียงพอ โดยเฉพาะน้ำที่เป็นต้นทุนพื้นฐานของระบบน้ำตามธรรมชาติ คือน้ำใต้ดิน ด้วยเหตุนี้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงสามารถทำได้ นอกจากนี้ก็ยังมีการปลูกหอมแดงเป็นจำนวนไม่น้อยในแต่ละปีอีกด้วย

ที่สำคัญและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่อื่น ๆ ที่มักจะมีปัญหาเรื่องของน้ำ คือราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำห้วยยัดแห่งนี้ มิได้นั่งและนอนรอน้ำจากอ่างให้ไหลลงมาในพื้นที่เพาะปลูกของตนเองเพียงอย่าง เดียว หากแต่มีการจัดตั้งกันขึ้นมาเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำ มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ช่วงไหนเวลาใด ราษฎรรายใดต้องการน้ำก็จะปล่อยลงไปให้ เมื่อเพียงพอก็จะหยุดปล่อย จึงทำให้น้ำทุกหยดจากอ่างเก็บน้ำได้รับการใช้ประโยชน์อย่างเต็มคุณค่า

และในระหว่างที่พื้นที่เพาะปลูกต้องการใช้น้ำน้อย น้ำที่เก็บกักอยู่ในอ่างก็จะซึมซับไปโดยรอบบริเวณของอ่างเก็บน้ำยังผลให้ พื้นที่โดยรอบมีความชุ่มชื้นอย่างเต็มที่ จึงเป็นผลให้น้ำใต้ดินมีปริมาณที่มากพอเพื่อการเพาะปลูกพืชที่ไม่ต้องการน้ำ แบบไหลผ่านอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั่นเอง

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นที่พระองค์ทรงให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎร ให้ได้มีได้ใช้ไปชั่วชีวิตและตลอดชั่วลูกชั่วหลาน แบบไม่ต้องกังวลเรื่องอดอยากลำบากยากแค้นแสนเข็ญเหมือนเช่นในอดีตกันอีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น