วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

'มินิคอมพานี' ผลิตภัณฑ์งานฝีมือ

หนุนประสบการณ์สำเร็จรูป ปลูกฝังเด็กเรียนรู้-พึ่งตนเอง

ต้องยอมรับกันว่าผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ลุกลามทั่วโลกเป็นผลกระทบ กับประชากรแต่ละประเทศ ต่างต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริหารจัดการวางแผนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ ที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยของเรา แผนรองรับวิกฤติเศรษฐกิจแม้ว่าจะเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ความโชคดีที่พื้นฐานของการเป็นประเทศเกษตรกรรมกับแนวทางพระราชดำริ พอเพียง เป็นเสมือนเกราะคุ้มครองป้องกันความเดือดร้อนที่จะ เกิดขึ้นกับประชาชน

โดยเฉพาะในระดับรากหญ้าเป็นอย่างดี อีกทั้งการวางแผนทางการศึกษาที่ปลูกฝังประชากรตั้งแต่วัยเด็กได้เรียนรู้ พื้นฐานของการสร้างงานสร้างรายได้ในขณะที่ศึกษาเล่าเรียน

โครงการมินิคอมพานี (minicompany) เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอนรายวิชางานอาชีพ กับการจัดตั้งรวมตัวเป็นกลุ่มบริษัทขนาดเล็กภายในหน่วยงานสถานศึกษาที่ บูรณาการทั้งทรัพยากรในท้องถิ่น ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการด้วย กระบวนการเรียนรู้ให้เด็กนักเรียนได้มีรายได้ระหว่างเรียน เช่นเดียวกันกับ “โครงการมินิคอมพานี” ของโรงเรียนบ้านเกาะรากเสียด สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำแพงเพชร เขต 1 ที่ได้ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โดยมีเป้าหมายของโครงการคือ “นักเรียนสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปพัฒนาเป็นอาชีพยึดหลักเศรษฐกิจ พอเพียง” ส่วนวัตถุประสงค์ที่สำคัญของโครงการมินิคอมพานีที่นอกจากจะสร้างเสริมให้นัก เรียนได้มีความรู้ความสามารถ สร้างงานหารายได้ระหว่าง เรียนแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังลักษณะนิสัยการปฏิบัติงานที่เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตและ ประกอบอาชีพตลอดจนการศึกษาต่อ มีเจตคติต่ออาชีพสุจริตและมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ดีในการปฏิบัติงาน

อาจารย์วรรณา โชคประเสริฐถาวร ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านเกาะรากเสียด เจ้าของโครงการมินิคอมพานีได้เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนได้จัดกิจกรรมดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ปัจจุบันนี้ได้สร้างผลิตภัณฑ์งานอาชีพพื้นฐานให้แก่เด็กนักเรียนหลายชิ้นงาน ทั้งการจัด ทำผลิต ภัณฑ์จากปูนปลาส เตอร์ การทำเทียนหอมสมุนไพร การทำผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก การประดิษฐ์ของชำร่วย ดอกไม้จากผ้าใยบัว การประดิษฐ์ตุ๊กตาด้นมือสุนัขผ้าขนสัตว์ ฯลฯ เป็นต้น สำหรับวัตถุดิบที่นำมาผลิตนั้นในเบื้องต้นจะพิจารณาจากทรัพยากรที่มีอยู่ภาย ในท้องถิ่นอย่างเช่น การทำช่อกล้วยไม้จากผ้าใยบัว ที่นำเอาเศษไม้วัสดุตามทุ่งไร่ปลายนามาตกแต่งจนสวยงาม การจัดทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะได้รับงบประมาณการสนับสนุนจากเงินรายหัวนักเรียนส่วนหนึ่ง รายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายอีกส่วนหนึ่ง แม้ว่าจะไม่มากมายแต่เป้าหมายก็คือการสร้างความรู้ให้นักเรียนได้มีอาชีพติด ตัว หลังจากที่จัดทำและประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้พอสมควรแล้ว สินค้าก็จะถูกนำไปจำหน่าย ณ ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์นักเรียนของเขตพื้นที่ ร้านขายของฝากภายในปั๊มน้ำมันและร้านในเขตอำเภอเมือง ส่วนหนึ่งก็จะใส่ตะกร้าให้นักเรียนนำไปจำหน่ายตามโครงการ “ตะกร้าอาชีพ” ซึ่งก็พอที่จะสร้างรายได้ให้แก่นักเรียนได้ในระดับหนึ่ง อาจารย์วรรณายังได้เล่าเทคนิคการจัดช่อดอกไม้ซึ่งเป็นสินค้าอันดับหนึ่งให้ ฟังว่า หลักการสำคัญคือ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาหาความรู้จากหนังสือการประดิษฐ์ดอกไม้ ศึกษาจากของจริงแล้วฝึกปฏิบัติ โดยเฉพาะเทคนิคของการ จัดช่อ การวางรูปแบบจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด ช่อดอกไม้ที่นิยมจะมีทั้ง ช่อกล้วยไม้ช้างเผือก ช้างกระ ดอกบัว ดอกกุหลาบ และต้นกระบองเพชร รวมถึงดอกไม้ตามที่ลูกค้าหรือท้องตลาดมีความต้องการ

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการเรียนโดยใช้บทเรียนทางคอมพิวเตอร์ในการสอนเรื่อง ของการประดิษฐ์ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างหลากหลายและผู้สนใจก็สามารถที่จะนำไปเรียน รู้ด้วยตนเองได้จากแผ่นซีดีแต่ละรายการ ซึ่งจะเริ่มจากการแนะนำบทเรียนด้วยการเรียนรู้เนื้อหาสาระเบื้องต้น ตั้งความคาดหวังจากการเรียนรู้ ต่อจากนั้นก็จะคลิกไปที่สาระการเรียนรู้นักเรียนสามารถค้นหาขั้นตอนย้อนกลับ ไปมาได้ตามความต้องการ ซึ่งการเรียนรู้จากบทเรียนคอมพิวเตอร์จะมีการทดสอบทั้งก่อนและหลังเรียน อย่างไรก็ตามอาจารย์วรรณาได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคตจะได้นำเอาระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยในโครงการมินิคอมพานี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การออกแบบ ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงด้านการตลาดอีกด้วย

นับว่าเป็นโครงการดี ๆ ที่วันนี้คุณครูได้สอนสั่งปลูกฝังให้แก่ศิษย์ได้คิดเป็น ทำเป็น สร้างงานสร้างรายได้ระหว่างเรียน เพื่อออกไปสู่สังคมอย่างมีคุณภาพอีกหนทางหนึ่ง.

ศุภชัย ศรีงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น