วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ปลูกผักเหมียงในสวนยาง รายได้ง่าย ๆ ของ 'ป้าประคอง ลิ่มพิทักษ์'

ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดพังงา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค จับมือกับสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ทำการศึกษาวิจัยและรวบรวมองค์ความรู้ด้านการเกษตรของกลุ่มเกษตรกร ภายใต้โครงการศึกษาแนวทางวิจัยและพัฒนาเกษตรอินทรีย์พื้นที่จังหวัดพังงา โดยมี เกษม เพ็ชรสังข์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย วัตถุประสงค์ของโครงการคือ ศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์และแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ ตะกั่วป่า กะปง ท้ายเหมือง และอำเภอเมืองจังหวัดพังงา ซึ่งผลการศึกษาจากแปลงของเกษตรกร ที่ใช้เป็นกรณีศึกษานั้นพบว่า พังงามีองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ที่ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้พืชตระกูลถั่ว ทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากเศษวัสดุในพื้นที่ ทำน้ำหมักชีวภาพจากปลา พืชผักผลไม้ มีการใช้สารสมุนไพรหมักไล่แมลง

สำหรับในส่วนของแนวทางพัฒนาเกษตร อินทรีย์ในจังหวัดพังงานั้น หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลของกลุ่มเกษตรกรพบว่า ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการทำแปลงสาธิตเพื่อเป็นแปลงเรียนรู้ในทุก ๆ หมู่บ้าน เพราะเกษตรกรยังขาดความเชื่อมั่นในการทำเกษตรอินทรีย์ และต้องการให้ภาครัฐเข้ามาส่งเสริมช่วยเหลืออย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ สนับสนุนงบประมาณการทำแก๊สชีวภาพ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากปุ๋ยน้ำหมักและลดกลิ่นเหม็น และอยากให้หนุนเสริมการจัดการศึกษาดูงานการทำเกษตรอินทรีย์ของผู้ที่ประสบผลสำเร็จ พร้อมให้ช่วยเหลือด้านการตลาดจำหน่ายผลผลิตด้วย

หนึ่งใน “แปลงสาธิต” ที่เป็นคุณูปการอย่างสูงต่อพี่น้องเกษตรกรชาวจังหวัดพังงา โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกยางพาราเป็นอาชีพหลักคือสวนยางของ ป้าประคอง ลิ่มพิทักษ์ ที่ปลูก ผักเหมียง แซมไว้ระหว่างต้นยาง หรือที่เรียกว่า “ร่องยาง”

สวนของป้าประคอง ลิ่มพิทักษ์ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 ตำบลโคกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ในพื้นที่กว่า 50 ไร่แทบจะไม่มีพื้นที่ว่าง ทุกแห่งจะปลูกแซมด้วยผักเหมียง บางส่วนแบ่งเป็นพื้นที่เพาะกล้ายางขาย และสำหรับผักเหมียงนั้น ป้าประคองเล่าว่า ปลูกมา 20 กว่าปีแล้ว ทำให้มีรายได้เพิ่มและที่สำคัญเป็นการใช้พื้นที่ดินให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

“โดยเฉลี่ยจะเก็บยอดผักเหมียงได้วันละ ไม่ต่ำกว่า 10 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 50-60 บาท จะมีรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท นอกเหนือไปจากรายได้จากการขายยางพารา”

ป้าประคองเล่าว่า การปลูกผักเหมียงไม่มีปัญหาเรื่องศัตรูพืชมารบกวน ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ขณะเดียวกันก็เป็นพืชที่ทดแทนพืชผักที่อยู่ในตลาดได้ ทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกในการบริโภคผักปลอดภัยจากสารพิษมากขึ้น ที่สำคัญเป็นผักพื้นบ้านที่ให้คุณค่าทางอาหารสูง ...สำหรับการเก็บเกี่ยวนั้น ป้าประคองแนะว่า...

“เวลาเก็บก็ควรเก็บให้ชิดข้อ ไม่ควรเก็บกลางข้อเพราะจะทำให้การแตกยอดอ่อนครั้งต่อไปช้า การเก็บรักษาควรเก็บไว้ในที่ร่ม พรมน้ำแต่พอชุ่ม สามารถเก็บสดอยู่ได้นาน 5-6 วัน โดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น ยอดและใบอ่อนของผักเหมียงสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น ต้มกะทิ แกงเผ็ด แกงไตปลา แกงส้ม แกงเลียง ห่อหมก ผัดพริก ผัดไข่ ผัดน้ำมันหอย แกงจืด หรือนำมาชุบแป้งทอดก็ได้”

ในส่วนของการดูแลรักษาต้นเหมียง วิธีการง่าย ๆ ที่ป้าประคองใช้คือ ใช้จอบถากหญ้า เพื่อกำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ยปีละ 4 ครั้ง โดยวิธีการหว่านทั้งแปลง และหลังจากการเก็บเกี่ยวต้องการตัดแต่งกิ่ง ปีละ 1 ครั้ง

“ฉะนั้น จึงอยากฝากไปยังเพื่อน ๆ เกษตรกรชาวสวนยางให้ปลูกผักเหมียงไว้กิน เหลือจากกินก็นำไปขาย เป็นการเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวเป็นอย่างดี” ป้าประคองกล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น